วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่กินรี จนฺทิโย


 หลวงปู่กินรี จนฺทิโย
วัดกันตศิลาวาส ต.ฝั่งแดง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม 
หลวงปู่กินรี จันฺทิโย ท่านได้เล่าเรื่องราวของท่านสมัยที่ท่านไปฝึกอบรมกรรมฐานกับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านมักจะเอ่ยถามท่านว่า

“กินรี ได้ที่อยู่แล้วหรือยัง ?”

คำถามของหลวงปู่มั่นนั้นมิได้หมายถึงที่อยู่ในวัดปัจจุบัน แต่ท่านถามถึงส่วนลึกของใจว่ามีสติตั้งมั่นหรือยัง ถ้ายังท่านก็จะกล่าวอบรมต่อไป ซึ่งส่วนมากหลวงปู่มั่นท่านจะเน้นให้เห็นถึงว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นบ่อเกิดของความทุกข์

เพราะเกิดจากอวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้งในความเป็นของไม่เที่ยง ในความเป็นของเสื่อมโทรมของธาตุขันธ์ทั้งหลาย เป็นเหตุ และเพราะความไม่รู้จักสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริงว่ามันมิใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่รู้จักความไม่เที่ยง ไม่รู้จักความเป็นทุกข์ และไม่รู้ความเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนตามความเป็นจริงแล้ว อาสวะกิเลส คือ ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ ก็ย่อมครอบงำจิตของคนๆ นั้นให้มืดมัว เร่าร้อนและเป็นทุกข์ได้ในที่สุด

และท่านได้เล่าให้สานุศิษย์ทั้งหลายฟังอยู่เสมอว่า

ในขณะที่ท่านนั่งสมาธิบริกรรมภาวนาอยู่นั้น ก็รู้สึกว่าจิตค่อยๆ สงบเข้าไปทีละน้อยๆ แล้วปรากฏว่า ทั้งร่างกายและเนื้อหนังของท่านนั้นได้เปื่อยหลุดออกจากกันจนเหลือแต่ซากของกระดูกอันเป็นโครงร่างที่แท้จริงในกายของท่านเอง

“สิ่งที่ปรากฏในอาการอย่างนั้นมันชวนให้น่าเบื่อหน่ายยิ่งนัก” หลวงปู่ท่านกล่าว

ประสบการณ์ในธรรมโดยลักษณะนี้ ได้เกิดขึ้นกับหลวงปู่ท่านอีกครั้งหนึ่งในเวลาต่อมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าในขณะนั้นท่านพำนักอยู่ที่ใด ซึ่งครั้งนี้ท่านกล่าวว่า

“ในขณะที่ภาวนาอยู่นั้นได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในตัว เปลวเพลิงได้ลุกลามพัดไหม้ทั่วร่าง ในที่สุดก็เหลืออยู่แต่ซากกระดูกที่ถูกเผา และคิดอยู่ที่นั้นว่าร่างกายคนเราจะสวยงามแค่ไหน ในที่สุดมันก็ต้องถูกเผาอย่างนี้เอง”

หลวงปู่กินรีท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านหลวงปู่มั่นเพียง ๒ ปี เท่านั้น ส่วนเวลานอกนั้นท่านมักจะอยู่ตามลำพัง เป็นตัวของตัวเองมากกว่า ส่วนผู้ที่หลวงปู่กินรีจะลืมเสียมิได้ถึงแม้จะมาอยู่ปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่นก็ตาม ท่านคือ พระอาจารย์หลวงปู่ทองรัตน์ เพราะท่านเป็นผู้ที่ให้วิชาความรู้ในการปฏิบัติแก่หลวงปู่

นับว่าเป็นองค์แรกที่เป็นอาจารย์ของหลวงปู่กินรี ซึ่งท่านมักจะไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ อีกอย่างหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้หลวงปู่กินรีชอบอยู่อย่างสันโดษแต่ผู้เดียวนั้น เนื่องจากท่านเป็นพระมหานิกาย ไม่ได้ญัตติเป็นธรรมยุตเช่นพระทั้งหลายรูปอื่นๆ

หลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล (ครูบาจารย์เฒ่า) เป็นบูรพาจารย์พระกรรมฐานฝ่ายมหานิกายระดับแนวหน้าของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แต่เพียงผู้เดียว หลวงปู่มั่นท่านให้เหตุผลว่า

“ถ้าพากันมาญัตติเป็นพระธรรมยุตหมดเสียแล้ว ฝ่ายมหานิกายจะไม่มีใครแนะนำการปฏิบัติ มรรคผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับนิกายหรอก แต่มรรคผลขึ้นอยู่กับการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแนะนำสั่งสอนไว้แล้ว ละในสิ่งที่ควรละ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น เจริญในสิ่งที่ควรเจริญ นั่นแหละทางดำเนินไปสู่มรรคผลนิพพาน

บรรดาศิษย์ฝ่ายมหานิกายที่ท่านได้อนุญาตให้ญัตติตอนนั้นมีหลายรูป และที่ท่านไม่อนุญาต มีท่านพระอาจารย์ทองรัตน์เป็นต้น”

เรื่องระหว่างธรรมยุติกับมหานิกาย เป็นเรื่องที่ยกขึ้นมาพูดหลังพุทธปรินิพพานนานแล้ว ทำให้ผู้ไม่เข้าใจในเรื่องนี้ดีพอ ต้องไขว้เขวไปด้วย จนเกิดเรื่องเกิดราวกันมานับไม่ถ้วน

ในสมัยครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ ต้องมีเรื่องวิพากษ์วิจารณ์กันมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ บางรูปก็ว่าครูบาจารย์เฒ่าทองรัตน์ไม่ได้ญัตติ ไม่น่าให้ร่วมสังฆกรรมด้วย บางรูปก็ว่าในเมื่อมีข้อวัตรปฏิบัติเหมือนกัน แถมยังเป็นลูกศิษย์พ่อแม่ครูบาอาจารย์เดียวกัน ควรที่จะให้ร่วมสังฆกรรมด้วย

ก่อนถึงวันลงอุโบสถ พระเณรกำลังกังวลกันในเรื่องนี้มาก กลัวว่าเมื่อรวมสังฆกรรมแล้วจะไม่เกิดผลดีต่อคณะสงฆ์ศิษย์ทั้งสองฝ่าย เพราะเหตุเคลือบแคลงสงสัยในสังฆกรรมนั้น หลวงปู่มั่นได้หาอุบายเพื่อให้พระเณรคลายสงสัย หลวงปู่มั่นจึงถามครูบาจารย์เฒ่าในท่ามกลางสงฆ์ที่รวมฉันน้ำปานะด้วยกันว่า

“ท่านทองรัตน์สงสัยในสังฆกรรมอยู่บ้อ”

ครูบาจารย์เฒ่ากราบเรียนพร้อมกับพนมมือ

“โดยข้าน้อย ข้าน้อยบ่สงสัยดอกข้าน้อย” (ครับกระผม กระผมไม่สงสัยหรอกขอรับ)

“เออ..บ่สงสัยกะดีแล้ว ให้มาลงอุโบสถนำกันเด้อ” (เออ..ไม่สงสัยก็ดี ให้มาลงอุโบสถร่วมกันนะ)

หลวงปู่มั่นพูดด้วย ครูบาจารย์เฒ่าก็ไม่อยากให้ครูบาอาจารย์ต้องลำบากใจจึงพูดไปว่า “โดยข้าน้อย บ่เป็นหยังดอก ข้าน้อย ข้าน้อยขอโอกาสไปลงทางหน้าพู้นดอกข้าน้อย” ครูบาจารย์ตอบพร้อมกับพนมมือรับ

และต่อๆ มาเมื่อมีพระมหานิกายที่ไปกราบขอศึกษาประพฤติปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่ยังไม่ญัตติหรือไม่ประสงค์จะญัตติ ท่านก็บอกให้ไปศึกษากับครูบาจารย์ทองรัตน์ตลอด พระสงฆ์ที่ไปขอศึกษาประพฤติปฏิบัติกับหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ที่ไม่ได้ญัตติ บางรูปถึงแม้จะไปขอญัตติท่านก็ไม่ญัตติให้ โดยท่านให้เหตุผลว่า

“ถ้าพากันมาญัตติหมดจะทำให้พระสงฆ์เกิดการแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่ามากกว่าที่เป็นอยู่”

ซึ่งหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะคืนนิกาย
ทั้งสองนั้นให้เป็นอันเดียวกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

Sample text

Sample Text

Sample Text

 
Blogger Templates